“3 ด้านต้องรู้ สำหรับการติดตั้งโซลาร์ โรงงาน ภาคธุรกิจ เพื่อผลตอบแทนที่เหนือกว่า”

5729 Views  | 

“3 ด้านต้องรู้ สำหรับการติดตั้งโซลาร์ โรงงาน ภาคธุรกิจ เพื่อผลตอบแทนที่เหนือกว่า”

“3 ด้านต้องรู้ สำหรับการติดตั้งโซลาร์ โรงงาน ภาคธุรกิจ เพื่อผลตอบแทนที่เหนือกว่า”

โครงการโซลาร์ โรงงาน ภาคธุรกิจ มิใช่ทำได้เพียงแค่การประหยัดพลังงาน หากแต่ประยุกต์ข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม (Engineering) ด้านการเงิน (Finance) ด้านสิทธิประโยชน์ภาครัฐ / สถาบันการเงิน (Incentive) เข้าด้วยกันแล้ว จะสามารถสร้างแนวทางการพัฒนาโครงการลงทุนที่ดี สร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่า รวมถึงต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตของบริษัทฯ ได้

บทความนี้ Solar ES ขอแบ่งปันข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่ออธิบายใน 3 ด้าน ที่ทำให้โรงงาน ภาคธุรกิจ ที่ติดตั้งโครงการโซลาร์ สร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าได้ อันได้แก่

Table of content เพื่อผลตอบแทนที่เหนือกว่า

  1. องค์ประกอบ 1 : ด้านวิศวกรรม (Engineering)
    1.1 ทำความเข้าใจกับการใช้ไฟฟ้า ทั้งในปัจจุบันและแผนในอนาคต
    1.2 การออกแบบขนาดที่เหมาะสม
    1.3 การเลือกอุปกรณ์หลัก แผงโซลาร์ / อินเวอร์เตอร์
    1.4 หลังคากับโครงการโซลาร์
    1.5 การปรับปรุงด้านพลังงานไฟฟ้า และการต่อยอดกับโปรแกรมการจัดการพลังงานไฟฟ้า
  2. องค์ประกอบ 2 : ด้านการเงิน การลงทุน (Finance)
    2.1 รูปแบบการลงทุน
    2.2 การสนับสนุนจากสถาบันการเงิน
  3. องค์ประกอบ 3 : ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ (Incentive)
    3.1 BOI มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม Smart & Sustainable Industry


ด้านที่ 1 : ด้านวิศวกรรม (Engineering)

ด้านวิศวกรรม นับว่ารากฐานที่สำคัญของการพัฒนาโครงการ หากบริษัทติดตั้งโซลาร์ มีการลงรายละเอียดที่เจาะลึกและอธิบายในด้านต่างๆครบถ้วน ตั้งแต่ด้านการออกแบบต่างๆ แล้ว จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับโรงงาน ภาคธุรกิจได้ว่า กระบวนการอื่นๆ ของบริษัทติดตั้งโซลาร์นั้น น่าจะมีการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมที่ดี ทั้งด้านการพัฒนาโครงการ การออกแบบ การติดตั้ง การตรวจสอบ การบำรุงรักษา รวมไปถึงการเข้าแก้ไขปัญหาในอนาคต

1.1 ทำความเข้าใจกับการใช้ไฟฟ้า ทั้งในปัจจุบันและแผนในอนาคต

การได้มาของข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการออกแบบขนาดติดตั้งที่เหมาะสมของโครงการโซลาร์เป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อการพัฒนาโครงการ ลำพังบิลค่าไฟฟ้าอย่างเดียว บอกข้อมูลได้เบื้องต้น อาทิ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้าสูงสุด (kW) ทีช่วยแค่เพียงการประเมินขนาดติดตั้งได้เบื้องต้นเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่ยังขาดหายไปคือ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงระหว่างวัน นั้นเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง ให้เห็นความจำเป็นต้องมีข้อมูล อาทิ ตอนช่วงเที่ยงที่โครงการโซลาร์ มักจะผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด แต่โรงงาน ภาคธุรกิจ จะมีการปิดเครื่องจักรบางส่วนเนื่องด้วยเป็นเวลาพักเที่ยงของพนักงาน ซึ่งการที่เราเข้าใจการใช้ไฟฟ้านั้น จะทำให้การประมาณการณ์ผลตอบแทนโครงการโซลาร์มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น

วิธีที่จะได้ข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน มีหลากหลายรูปแบบได้แก่

  1. รูปแบบที่ 1 : หากที่ตั้งขึ้นกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แล้ว สามารถยื่นขอ Username & Password กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ตาม link AMR : Automatic Meter Reading (pea.co.th) โดยสามารถเข้าไปดูรูปแบบการใช้พลังงานไฟฟ้าในอดีตที่ผ่านมา รูปแบบการใช้พลังงานรายชั่วโมงในแต่ละวัน ทั้งนี้ข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการออกแบบ (ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) จะไม่มีบริการให้ข้อมูล AMR)

    ยกตัวอย่าง ข้อมูลที่ได้จาก AMR ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่มาใช้ในการวิเคราะห์

    1.1 การใช้พลังงานไฟฟ้ารายปี
    โดยมากการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนของกิจการจะไม่เท่ากัน การมีซึ่งข้อมูลสามารถนำมาใช้ในการหารือกับเจ้าของโครงการได้ต่อไปว่าประสงค์จะใช้ข้อมูลในช่วงใดเพื่อใช้ในการออกแบบโครงการ




    1.2 ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าราย 15 นาที
    ค่าเป็น kW / kWh ในแต่ละวัน ข้อมูลนี้มีความสำคัญมาก เพื่อนำมา plot แนวทางการใช้ไฟฟ้าประจำสัปดาห์




    1.3 จากข้อมูลข้างต้น
    เราสามารถเลือกข้อมูลใน 1 สัปดาห์ นำมา plot load profile เพื่อนำมาใช้ประเมินในการออกแบบขนาดโครงการโซลาร์ที่เหมาะสมในหัวข้อ 1.2 ได้ต่อไป (ยกตัวอย่างจากภาพ กิจการดังกล่าวมีการปิดเครื่องจักรบางส่วนตอนช่วงพักเที่ยง มีการทำงานในวันเสาร์ แต่ไม่มีการทำงานในวันอาทิตย์ เป็นต้น)


    (ตัวอย่าง) รูปแบบของการใช้ไฟฟ้าในรายสัปดาห์


  2. รูปแบบที่ 2 : การใช้เครื่องคล้องสายไฟฟ้าที่ตู้ไฟฟ้าหลักเพื่อวัดการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยจะเป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้าที่ใช้วัดพลังงานไฟฟ้าแบบ real time โดยอาจจะทำการวัดสัก 1 วัน ถึง 1 สัปดาห์ เพื่อให้เข้าใจการใช้งานของโรงงาน

  3. รูปแบบที่ 3 : การดำเนินงานอย่างง่าย โดยวัดค่าทางไฟฟ้าทุกต้นชั่วโมง (กระแสไฟฟ้า, แรงดันไฟฟ้า) หรือจดมิเตอร์การใช้ไฟฟ้าทุกต้นชั่วโมง เพื่อหาการใช้ไฟฟ้า kWh ในแต่ละชั่วโมงได้

    การได้มาซึ่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันนับว่าสำคัญ อย่างไรก็ดีการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตก็นับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน (อาทิเช่น โรงงานมีแผนการขยายกำลังการผลิต การเพิ่มเครื่องจักรในอนาคต หรือว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันยังไม่ปกติ เนื่องด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถเปิดการใช้งานเครื่องจักรได้อย่างเต็มที่) เนื่องด้วยการติดตั้งโครงการโซลาร์ โรงงาน ภาคธุรกิจ นั้นต้องขออนุญาตภาครัฐหลากหลายหน่วยงาน การติดตั้งเพิ่มเติมเพิ่มกำลังการติดตั้งโซลาร์ในภายหลังเพียงแค่เล็กน้อย จะทำให้เกิดความยุ่งยากได้ การคิดคำนึงเผื่อถึงการใช้ไฟฟ้าในอนาคตหรือการใช้ไฟฟ้าของกิจการที่ควรจะเป็นจึงนับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน จะให้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่าได้มากขึ้น


1.2 การออกแบบขนาดที่เหมาะสม

การออกแบบขนาดติดตั้งที่ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและเหมาะสม มักเป็นส่วนที่มองข้ามกัน ทั้งๆที่มีผลเป็นอย่างมากต่อผลตอบแทนที่จะกลับมาให้กับกิจการ

ทั้งนี้ บริษัทติดตั้งโซลาร์ สามารถใช้โปรแกรมในการประมาณการผลิตโซลาร์ เพื่อให้ได้ผลการผลิตไฟฟ้าออกมาเป็นรายชั่วโมง ตลอดทั้งปีได้ โดยนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้ารายชั่วโมงตลอดทั้งปี ประเมินร่วมกับการใช้ไฟฟ้าในหัวข้อ 1.1 แล้ว ทำให้สามารถประเมินความคุ้มค่าของโครงการโซลาร์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น และเป็นการ optimization เพื่อให้การติดตั้งโซลาร์นี้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น คุ้มค่ามากขึ้นกับเจ้าของกิจการ

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น หากเราใช้ข้อมูลในหัวข้อ 1.3 มาออกแบบโครงการโซลาร์ โดยนำมาออกแบบสัก 3 กรณี ได้แก่ (ทั้งนี้ ขนาดการออกแบบนั้น ทางบริษัทผู้ติดตั้งโซลาร์ จะใช้ความรู้และประสบการณ์ในการแนะนำลูกค้า)

กรณี 1 : 300 kWp ได้ผลตอบแทนตลอด 25 ปีที่ 48 ล้านบาท หลังหักเงินลงทุน


Note :

  1. กราฟรูประฆังคว่ำ (Average Solar Production) จะมีส่วนช่วยอย่างมากเพื่อให้โรงงาน เจ้าของกิจการ เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ที่ได้ กับการใช้พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยปกติแล้วโครงการโซลาร์จะผลิตไฟฟ้าได้ในตอนกลางวันเป็นรูปคล้ายๆระฆังคว่ำ โดยมีช่วงการผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดช่วงเที่ยงวัน

  2. %Solar Utilization หมายถึง พลังงานไฟฟ้าที่โครงการโซลาร์ผลิตได้จริง ตาม load การใช้งาน / ศักยภาพการผลิตได้ของโครงการโซลาร์


กรณี 2 : 400 kWp ได้ผลตอบแทนตลอด 25 ปีที่ 63 ล้านบาท หลังหักเงินลงทุน


กรณี 3 : 500 kWp ได้ผลตอบแทนตลอด 25 ปีที่ 75 ล้านบาท หลังหักเงินลงทุน


จากทั้ง 3 กรณี ถึงแม้ว่า %Solar Utilization ของการติดตั้ง 500 kWp จะมีค่าน้อยกว่าระดับ 300 kWp บ้าง แต่อย่างไรก็ดีการติดตั้งที่ 500 kWp ให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าการติดตั้งที่ 300 kWp มาก ดังนั้นการศึกษาและพิจารณาการออกแบบที่เหมาะสม จะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากขึ้นอย่างแน่นอน


1.3 การเลือกอุปกรณ์หลัก แผงโซลาร์ / อินเวอร์เตอร์

ในบทความนี้จะนำเสนอมุมมองที่นอกเหนือจากข้อมูลด้าน Engineering ของแผงโซลาร์และอินเวอร์เตอร์ ในแต่ละยี่ห้อ ที่มักจะมีจุดเด่นแตกต่างกันไปตามแต่ช่วงระยะเวลา

ทั้งนี้ 1 ในแนวทางที่ควรพิจารณาในการเลือกอุปกรณ์หลัก อันได้แก่ แผงโซลาร์ / อินเวอร์เตอร์ คือความมั่นคงของบริษัทที่ผลิต เนื่องด้วยโครงการโซลาร์มีอายุโครงการที่ยาวนาน 25-30 ปีได้ และผู้ผลิตอุปกรณ์มักมีการรับประกันอุปกรณ์ที่ยาวนานด้วยเช่นกัน อาทิ แผงโซลาร์ รับประกัน 12-year product warranty & 30-year performance warranty หรือ อินเวอร์เตอร์ รับประกัน 5-10 ปี หากเวลาผ่านไปบริษัทผู้ผลิตเหล่านั้นล้มเลิกกิจการไป หรือว่าไม่เน้นตลาดที่เมืองไทยแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการเคลมหากมีปัญหากับอุปกรณ์นั้น หรือการ service / บำรุงรักษาอุปกรณ์นั้นได้ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้ (เบื้องต้น) อาจจะใช้วิธี ดูยอด market share ของผู้ผลิตแต่ละราย รวมถึงการทำตลาดในประเทศไทยของผู้ผลิตแต่ละรายด้วย ได้แก่

  1. แผงโซลาร์
    โดยปกติแผงโซลาร์ มักจะใช้คำว่า Tier 1 ที่หมายถึง ผู้ผลิตแผงโซลาร์ ที่มีครบตลอด value chain และมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีสิ่งนี้ไม่ได้ยืนยันถึงความเข้มแข็งของ brand นั้นในระยะยาวในตลาดมากนัก จากข้อมูล Bloomberg มีผู้ผลิต Solar PV Tier 1 กว่า 20-30 ราย

    การเลือกแผงโซลาร์ Top brand ที่มียอดกำลังการผลิตมากรวมถึงราคาที่เหมาะสม จะมีส่วนช่วยโครงการได้เป็นอย่างดี (เป็นแนวคิดที่ว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตมาก โอกาสที่จะเลิกกิจการไป มีความเป็นไปได้น้อยกว่า บริษัทขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตน้อย)


    ภาพแสดง Solar PV brand ตามยอดกำลังการผลิต

    อีกส่วนที่สำคัญ คือการเลือกขนาด watt ต่อแผงให้มากที่สุด หรือเป็น model รุ่นใหม่สุด อาจจะคล้ายๆกับการอธิบายเรื่องเครื่องจักรใหม่ๆ ที่เพิ่งออกมา (จำนวน watt ต่อแผงสูง มักจะมีการออกมาในภายหลัง) โดย model รุ่นหลังๆ จะมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้ามากกว่ารุ่นที่แล้วมา หรือมีความคงทนต่อการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น


    ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น

          1) แผง Jinko รุ่น 400w รุ่นการผลิตปี 2020 มีการรับประกัน 12-year product warranty & 25-year performance warranty ตามด้านล่าง (ในปีแรกประสิทธิภาพลดลง 2.5% ในปีต่อๆไปประสิทธิภาพลดลง 0.55% ต่อปี)




          2) แผง Jinko รุ่น 600w รุ่นการผลิตปี 2023 มีการรับประกัน 12-year product warranty & 30-year performance warranty ตามด้านล่าง (ในปีแรกประสิทธิภาพลดลง 1% ในปีต่อๆไปประสิทธิภาพลดลง 0.4% ต่อปี)



  2. Inverter
    นับเป็นอุปกรณ์อีกอัน ในส่วน market share ของ Inverter สามารถแสดงได้ ดังภาพด้านล่าง ทั้งนี้ หากเป็น String Inverter จะมี Huawei / Sungrow ที่ได้สัดส่วน market share ที่ดี หากเป็น Inverter แบบมี optimizer จะมีผู้นำตลาดคือ Solaredge


    แนวคิดเช่นเดียวกับแผงโซลาร์ เป็นแนวคิดที่ว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตมากหรือมีสัดส่วนการตลาดที่มาก โอกาสที่จะเลิกกิจการไป มีความเป็นไปได้น้อยกว่า บริษัทขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตน้อย

    นอกจากนี้ Engineering Service ของผู้ผลิตในประเทศนั้นๆ มีความสำคัญมาก เพราะถ้า Inverter เกิดการชำรุดหรือมีปัญหาในการดำเนินงานแล้ว ไม่มีทีม Engineering Service ที่เข้มแข็งหรือระบบการเปลี่ยนอะไหล่ที่รวดเร็ว ก็ทำให้กิจการสูญเสียโอกาสในการผลิตไฟฟ้าไปได้

 

1.4 หลังคากับโครงการโซลาร์

มักเป็นประเด็นที่สำคัญ โรงงานในบางแห่งหลังคาอาจจะมีการใช้ที่ยาวนานมาก รวมถึงไม่แน่ใจเกี่ยวกับโครงสร้างว่าจะสามารถรองรับน้ำหนักของการติดตั้งโซลาร์ได้หรือไม่

  • ในด้านที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างนั้น ทางบริษัทติดตั้งโซลาร์ สามารถนำแบบของทางโรงงานไปประเมินเพื่อดูเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างได้ หากไม่เพียงพอสามารถใช้วิธีการเสริมโครงสร้างเพื่อเสริมความแข็งแรงให้รองรับกับน้ำหนักของการติดตั้งโซลาร์ได้

  • ในด้านเกี่ยวกับการเปลี่ยนหลังคา เพื่อรองรับโครงการโซลาร์ ควรพิจารณาว่าโครงการโซลาร์นั้น มีอายุ 20-30 ปี หากหลังคามีลักษณะชำรุดทรุดโทรมแล้ว ก็ควรพิจารณาการเปลี่ยนหลังคาควบคู่ไปด้วย นอกจากจะทำให้การติดตั้งโครงการโซลาร์ได้สะดวกแล้ว ยังช่วยเรื่องการบำรุงรักษามีความง่าย และปลอดภัย และทำให้การผลิตไฟฟ้าได้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ด้วย ยังมีประโยชน์ในเชิงการพัฒนาโครงการที่เอางบประมาณในการเปลี่ยนหลังคา เข้ารวมกับโครงการโซลาร์ จะทำให้การพิจารณาภายในกิจการเอง หรือการยื่นต่อสถาบันการเงินได้สิทธิประโยชน์ที่ดีอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความคล่องตัวต่อการพัฒนามากขึ้น


1.5 การปรับปรุงด้านพลังงานไฟฟ้า และการต่อยอดกับโปรแกรมการจัดการพลังงานไฟฟ้า

การใช้ไฟฟ้าภายในโรงงาน มักเป็นสิ่งที่โรงงาน รวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ มีความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะที่ดีมากมาย แต่ในบางครั้งการขาดเรื่อง Data ทำให้การนำเสนอการปรับปรุงโรงงานเป็นไปได้ลำบาก

ทั้งนี้ในการติดตั้งโครงการโซลาร์ ระหว่างที่เริ่มทำการพัฒนาอาจจะพบ Data ที่ทำให้เข้าใจถึงปัญหา Power Quality ของทางกิจการได้ อาทิ ปัญหาไฟตก ไฟดับ แรงดันไฟฟ้าในแต่ละเฟสไม่เท่ากัน เป็นต้น การนำการปรับปรุง Power Quality มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ จะช่วยเรื่องการบริหารจัดการโครงการได้ดีขึ้น (เช่นเดียวกับการเปลี่ยนหลังคา เวลานำไปเสนอต่อผู้บริหาร หรือว่าการยื่นเรื่องขอกู้กับสถาบันการเงิน จะได้สะดวกขึ้นและได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น) ทั้งนี้ power quality ทางไฟฟ้าต่างๆ ได้ นั้นจะนำไปสู่การประหยัดพลังงาน ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า การยืดระยะอายุเครื่องจักรในการใช้งาน รวมถึงลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตจากปัญหาทางไฟฟ้า เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตได้ต่อไป

นอกจากนี้ การต่อยอดเพื่อนำไปสู่ Digital Transformation ด้าน Data นับเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ทางโรงงานวางแผนในการดำเนินงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างเต็มที่ต่อไป โดยอาจต่อยอดทำเรื่อง Energy Management ในการ Monitoring ค่าที่สำคัญ เพื่อใช้วางแผนในการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตต่อไปได้ อาทิเช่น การที่ได้มาซึ่ง Data การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้พลังงานไฟฟ้า แบบ Realtime แล้ว อาจจะเพิ่มเติมติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์การใช้ utility ในจุดอื่น อาทิ แก๊ส น้ำ แรงดันลม เป็นต้น เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ หาจุดที่จะช่วยในโครงการอนุรักษ์พลังงานต่อไปได้ (โดยมาก ผู้รับผิดชอบภายในโรงงานจะมีความคิดเห็นที่จะช่วยในการปรับปรุงได้ ขอแค่มี Data มาช่วยยืนยันในความคิดเห็นนั้น)

ด้านที่ 2 : Finance (ด้านการเงิน การลงทุน)

ด้านการเงินก็เป็นอีกด้านที่มีความสำคัญมากเช่นกัน การพัฒนาโครงการที่ดี หากประกอบควบคู่ทั้งแนวทางวิศวกรรม Engineering ที่ดี และแนวทางการเงิน Finance ที่ดีแล้ว จะสามารถเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนการลงทุนได้

เนื่องด้วยการพัฒนาโครงการโซลาร์ เป็นโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ผลตอบแทนที่ดี และความเสี่ยงต่ำ (เนื่องด้วยไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของธุรกิจ ไม่ว่าธุรกิจจะดีหรือไม่ดี การใช้ไฟฟ้ายังมีอยู่) ทำให้มีสถาบันการเงิน และผู้ลงทุน สนใจที่จะสนับสนุนกิจการ เกิดการลงทุนในโครงการโซลาร์ ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของทางผู้บริหารและเจ้าของกิจการได้หลากหลายด้าน ทั้งนี้แต่ละด้านจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน รวมถึงผลตอบแทนที่แตกต่างกันด้วย

2.1 รูปแบบการลงทุน
เป็นส่วนที่มีผลต่อผลตอบแทนการลงทุนของกิจการอย่างมาก

เบื้องต้นแนวทางของการลงทุนในโครงการโซลาร์ โรงงาน ภาคธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่


LoanLeasingPPA สัญญาซื้อขายไฟฟ้า
รูปแบบกู้ธนาคารกู้สถาบันการเงินมีผู้ลงทุนให้ โดยแบ่งปันผลประโยชน์
Up-Front 0-40%
ขึ้นกับ credit & หลักประกัน
0-20% 0%
สิทธิประโยชน์ BOIYesYesNo
จุดเด่นได้ผลตอบแทนสูงสุด
เงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ
ค่าผ่อน นำเป็นค่าใช้จ่ายได้
ใช้โครงการ เป็นตัวค้ำได้
ไม่ต้องกังวลตลอดการใช้งาน
(แต่ผลตอบแทนน้อย)
ผลตอบแทน 25-year $$$$$$$$$$
ตัวอย่าง
ผลตอบแทน 15-year
(500 kWp ข้อ 1.2)
40 ล้านบาท39 ล้านบาท 20 ล้านบาท

 

โดยหลักแล้ว รูปแบบการลงทุนขึ้นกับมุมมองของผู้บริหารแต่ละบริษัท ทั้งนี้ ขอรวบรวมความคิดเห็นบางด้านมาแสดง (แต่ละมุมมอง ไม่มีถูกหรือผิด หรือว่าอันไหนเหมาะสมกว่าอันใด) ได้แก่

  1. การลงทุนเอง (loan) จะให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด อย่างไรก็ดีการพิจารณาลงทุนเอง ภายในบริษัทฯ บางแห่งจะมีขั้นตอนและกระบวนการในการพิจารณามาก ทำให้การพิจารณาเป็น Leasing หรือ PPA มีความเหมาะสมมากกว่า
  2. การลงทุนเอง (loan) จะกระทบกับความสามารถในการกู้ยืมของบริษัทฯ การนำความสามารถการกู้ยืมของกิจการไปลงทุนขยายการผลิต หรือเครื่องจักร อันเป็นธุรกิจหลักจะให้ผลประโยชน์ที่มากกว่า
  3. การลงทุนแบบ Leasing น่าสนใจ เพราะว่าไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม (ใช้เพียงแค่โครงการโซลาร์) โดยมี up-front บ้างบางส่วน รวมถึงค่าผ่อนชำระสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เต็มจำนวน ทำให้ช่วยเรื่องการประหยัดภาษีได้ (เสริม หากเป็นการลงทุนเอง (loan) ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ จะลงบรรทัดสุดท้ายกลายเป็นกำไรสุทธิเลย ทำให้มีการเสียภาษีที่สูงขึ้น โดยมีเพียงแค่ดอกเบี้ยที่สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าใช้จ่ายได้)
  4. PPA หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ที่เป็นรูปแบบแบ่งปันผลประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า แต่บริษัทฯ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพดูแลจะดีกว่า เป็นต้น


2.2 การสนับสนุนจากสถาบันการเงิน

เนื่องด้วยโครงการโซลาร์ เป็นโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มี cash flow ชัดเจน ทำให้สถาบันการเงินสนใจในการปล่อยกู้ระยะยาว และให้ดอกเบี้ยต่ำได้

การปล่อยกู้ระยะยาว เป็นจุดที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีสถาบันการเงินพิจารณาให้ระยะการปล่อยกู้ยาวนานถึง 7-8 ปีได้ โดยระยะเวลาดังกล่าว ส่วนมากแล้ว ทำให้ผลจากการประหยัดไฟฟ้าในแต่ละปีนั้น มากกว่าอัตราการผ่อนชำระต่อสถาบันการเงิน ทำให้ cash flow ของโครงการเป็นบวกในแต่ละปี หมายความถึง การลงทุนในโครงการโซลาร์ ไม่กระทบต่อ cash flow การดำเนินงานในปัจจุบันของกิจการ ทำให้หลังจากผ่อนชำระครบ (7-8 ปี) แล้ว ทำให้บริษัทฯ มีสินทรัพย์เป็นโครงการโซลาร์กลับคืนมา (เพื่อให้เห็นภาพ การนำเงินที่ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ไปผ่อนธนาคารแล้วได้สินทรัพย์กลับมา เป็นจุดแข็งที่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วก็เสียเงินค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าไป โดยที่ไม่ได้อะไรกลับมา)


ด้านที่ 3 : Incentive (การสนับสนุนจากภาครัฐ)

3.1 BOI มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม Smart & Sustainable Industry

โดยนโยบายภาครัฐดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้โรงงาน ภาคธุรกิจ นั้นสามารถ หักลดหย่อนภาษีได้ 50% ของมูลค่าการลงทุนได้เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยส่งเสริมให้โรงงาน ภาคธุรกิจ ติดตั้งโซลาร์ และได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาเพิ่มขึ้นเท่าตัว

โดยปกติแล้ว การติดตั้งโซลาร์ของโรงงานอุตสาหกรรม จะมีการคืนทุนที่ 5-6 ปี แต่การใช้สิทธิ BOI หักลดหย่อนภาษีแล้วการคืนทุนจะอยู่ที่ 2.5-3 ปี ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวทำให้การคืนทุนที่ไวและนับเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมาก

นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐดังกล่าวเน้นการยกระดับอุตสาหกรรม โดยมี category ตามด้านล่าง การวางแผนการดำเนินงานที่ดี ก็จะช่วยต่อยอดไม่ใช่แค่เพียงแต่โครงการโซลาร์เท่านั้น แต่ใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้อีกมาก ได้แก่

  1. ส่งเสริมการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
  2. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ
  3. ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
  4. ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (โครงการโซลาร์อยู่ในหัวข้อนี้)
  5. ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพไปสู่มาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล


การวางแผนการดำเนินงานที่ดีในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้ประโยชน์จากมาตรการข้างต้น คล้ายๆกับการที่กิจการมีงบประมาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐในรูปแบบของภาษีทุกๆ ปี


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  and